วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทดสอบ Intel® Core™ i7-980X ซีพียู 6 คอร์ 12 เธรด

จากซีพียูแบบ Multi-Core รุ่นแรกที่เปิดตัวให้เราได้รู้จักด้วยการมีหน่วยประมวลผล 2 แกนหลัก (หรือที่เรียกสั้นๆ ตามคำทับศัพท์ว่า "คอร์" ในชิปซีพียูชิปเดียว จนพัฒนามาเป็นซีพียู 3 และ 4 คอร์ ให้เราได้เลือกใช้งานในปัจจุบัน

 มาถึงวันนี้อินเทลก็เผยอีกหนึ่งผลงานพัฒนาที่แสนร้อนเร่าออกมาให้เราได้สัมผัสกันอีกครั้งกับซีพียู 6 คอร์รุ่นแรก ที่มีรหัสพัฒนาว่า ‘Gulftown’ หรือที่ใช้ชื่อทำตลาดอย่างเป็นทางการว่า “Intel® Core™ i7-980X ” จะจริงหรือไม่ที่จำนวนคอร์ยิ่งมากจะให้ประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วยนั้น วันนี้ทีมงานมีข้อมูลและผลทดสอบของซีพียูตัวล่ามาแรงนี้มาให้คุณได้อ่านกันเรียบร้อยแล้ว


รู้จักกับ Intel® Core™ i7-980X  ให้มากขึ้น

    จากตารางแสดงคุณสมบัติทางเทคนิคของ 3 ซีพียูรุ่นท๊อปของอินเทลที่ทีมงานได้นำมาแสดงประกอบ จะเห็นได้ว่า Core i7-980X (ตัวอักษร X ที่ต่อท้าย ย่อมาจาก Extreme Edition แต่อินเทลไม่ต้องการให้ผู้ใช้สับสนกับ Core i7-975 Extreme Edition ซีพียู 4 คอร์ ที่มีความเร็ว 3.3 กิกะเฮิร์ตเท่ากัน จึงใช้ตัว X ต่อท้ายเพียงตัวเดียว) เป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่ได้จากเทคโนโลยีการผลิตขนาด 32 นาโนเมตร ต่อจากการเปิดตัวซีพียู Core i5 และ Core i3 ที่ชิงเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตที่ทำให้ขนาดของทรานซิสเตอร์ภายในตัวซีพียูที่เล็กลงก็คือ การที่ผู้ผลิตซีพียูสามารถเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์ลงไปบนตัวได (หรือแผงวงจรซิลิกอนขนาดเล็กในตัวซีพียู) ได้มากขึ้นกว่าเดิม นั่นทำให้อินเทลสามารถเพิ่มจำนวนคอร์ลงไปให้กับ Core i7-980X ลงไปได้อีก 2 คอร์ ในที่สุด และเมื่อผนวกกับการนำเทคโนโลยี Hyper-Threading มาใช้งานเฉกเช่นเดียวกับซีพียู Core i7 หรือ Core i5 รุ่นก่อนหน้านี้ ก็ทำให้การประมวลผลของซีพียูทำได้มากถึง 12 เธรด หรือเสมือนว่าเป็นซีพียู 12 คอร์ แบบกลายๆ นั่นเอง

    ด้วยการมีจำนวนคอร์ที่เพิ่มขึ้นอีก 2 คอร์ และหน่วยความจำแคชระดับที่ 2 และ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 และ 4 เมกะไบต์ตามลำดับ จึงทำให้ Core i7-980X มีจำนวนทรานซิสเตอร์ภายในตัวซีพียูเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.17 พันล้านตัว เมื่อเทียบกับซีพียู 4 คอร์ อย่าง Core i7-975 Extreme Edition ที่มีจำนวนทรานซิสเตอร์ในตัว 731 ล้านตัว จากเทคโนโลยีการผลิตขนาด 45 นาโนเมตร ก็เท่ากับว่าเทคโนโลยีการผลิตขนาด 32 นาโนเมตร ทำให้อินเทลสามารถเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไปให้กับ Core i7-980X ได้มากถึง 439 ล้านตัว โดยที่มีขนาดของไดเพียงแค่ 248 ตารางมิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่าขนาดไดของ Core i7-975 Extreme Edition ที่มีขนาด 263 ตารางมิลลิเมตร อยู่มากพอสมควร และย่อมหมายความว่า อินเทลสามารถเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์ให้กับตัวซีพียูได้อีก จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยที่อินเทลจะพัฒนาซีพียูแบบ 8 คอร์ หรือ 12 คอร์ ออกมาในอนาคตข้างหน้า และหากมองไปยังอนาคตกับซีพียูที่มีรหัสพัฒนาว่า “Sandy Bridge” ที่อินเทลวางแผนผลิตด้วยเทคโนโลยีขนาด 22 นาโนเมตร และจะย้ายในส่วนของ GPU ไปไว้บนไดเดียวกับคอร์ประมวลผล นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับอินเทลเช่นกัน


แคช L3 เพิ่มขึ้น 50% แต่ทำงานช้าลง 14% เพราะอะไร

    ในส่วนของหน่วยความจำแคชระดับที่ 2 และระดับที่ 3 สำหรับ Core i7-980X คอร์แต่ละคอร์ก็ยังคงมีหน่วยความจำแคชระดับที่ 2 ขนาด 1 เมกะไบต์ และหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 ขนาด 2 เมกะไบต์ ที่แบ่งปันใช้งานร่วมกันได้ระหว่างคอร์แต่ละคอร์ เช่นเดียวกับซีพียูรหัสพัฒนา Nehalem ต้นฉบับอยู่เช่นเดิม จึงทำให้มีหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 รวมทั้งหมด 12 เมกะไบต์ ซึ่งเท่ากับว่าในการทำงานแบบประหยัดพลังงานที่คอร์ของซีพียูทำงานอยู่เพียงคอร์เดียว คอร์ของซีพียูคอร์นั้นก็จะสามารถใช้งานหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 ได้ทั้งหมด 12 เมกะไบต์เลยทีเดียว แม้ว่าอีก 5 คอร์ ที่เหลือจะหยุดทำงานก็ตาม

    สิ่งที่คุณต้องทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่า Core i7-980X จะมีหน่วยความจำแคชที่เพิ่มขึ้น แต่หากเจาะลึกลงไปในการทำงานของหน่วยความจำแคชแล้วก็จะพบว่า อินเทลได้เพิ่มจำนวนสัญญาณนาฬิกาการทำงานของหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 ขนาด 12 เมกะไบต์ ของ Core i7-980X มาเป็น 48 ไซเคิล เมื่อเทียบกับ 42 ไซเคิล ของหน่วยความจำแคชขนาด 8 เมกะไบต์ ที่ใช้งานอยู่เดิม จึงทำให้หน่วยความจำทำงานช้ากว่าเดิม 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับหน่วยความจำแคชที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการมีค่า Latency ที่เพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์นี้ จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ผลการทดสอบในช่วงท้ายบทความจะให้คำตอบแก่คุณได้เป็นอย่างดี


ความเร็ว Turbo Boost

    ด้วยการเป็นหนึ่งในซีพียูแบบ Extreme Edition จึงทำให้ Core i7-980X ไม่ได้ล็อกตัวคูณสัญญาณนาฬิกาเอาไว้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่เหมือนกับซีพียู Core i ในรูปแบบซ็อกเก็ต 1156 แต่ถึงกระนั้นในการทำงานที่มีคอร์ทำงานมากกว่า 1 คอร์ ของ Core i7-980X จะมีความเร็วในโหมด Turbo Boost เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 133 เมกะเฮิร์ตเท่านั้น และหากว่ามีคอร์ทำงานเพียงคอร์เดียว ความเร็วในโหมด Turbo Boost จะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 266 เมกะเฮิร์ต จึงทำให้มีความเร็วโดยรวมเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 3.6 กิกะเฮิร์ตเท่านั้น หากนำไปเทียบกับ Core i7-870 ที่มีความเร็วในการทำงานพื้นฐานที่ 2.93 กิกะเฮิร์ต กลับมีความเร็วโดยรวมสูงสุดในโหมด Turbo Boost ที่ 3.6 กิกะเฮิร์ต เท่ากันกับ Core i7-980X แต่เป็นความเร็วในโหมด Turbo Boost ที่เพิ่มขึ้นจากความเร็วดั้งเดิมที่ 2.93 กิกะเฮิร์ตถึง 733 เมกะเฮิร์ต เลยทีเดียว ดังนั้นความเร็วในโหมด Turbo Boost สูงสุดของ Core i7-980X จึงทำออกมาไม่ได้ดั่งใจสักเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้นคำตอบก็อยู่ที่ค่า TDP ของตัวซีพียูที่ 130 วัตต์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความเร็วสูงสุดของโหมด Turbo Boost จึงทำให้มีความเร็วสุงสุดที่ 3.6 กิกะเฮิร์ต ที่เท่าเทียมกับ Core i7-975 Extreme Edition ซึ่งมีค่า 130 วัตต์ เช่นเดียวกัน

วิเคราะห์ผลการทดสอบ

    จากผลการทดสอบที่ได้ออกมา ทำให้ทีมงานได้เห็นถึงพลานุภาพที่สุดชิวของ Core i7-980X อย่างน่าตื่นเต้น โดยในการทดสอบการเรนเดอร์ภาพ 3 มิติ ในแบบมัลติเธรดของ Core i7-980X จากโปรแกรม POV Ray3.7 และ CineBench 11.5 กับการทำงานแบบ 64 บิต Core i7-980X สามารถทำได้เหนือกว่า Core i7-975 ตั้งแต่ 37 ถึง 55 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ในส่วนของการเข้ารหัสวิดีโอ Core i7-980X ก็สามารถทำได้เหนือ Core i7-975 มากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ จากโปรแกรม HandBrake 0.9.4 ในการแปลงไฟล์จากดีวีดีเพื่อนำไปใช้กับไอโฟน เช่นเดียวกับการตัดต่อวิดีโอจากโปรแกรม Premiere Pro CS3 และ Sony Vegas Pro 9.0c ซีพียู 6 คอร์ 12 เธรด ของ Core i7-980X ก็สามารถทำได้เหนือกว่า Core i7-975 ที่มี 4 คอร์ 8 เธรด อยู่ตั้งแต่ 10 ถึง 25 เปอร์เซนต์

    สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานในส่วนของฮาร์ดแวร์ จะเห็นว่าการมีค่า Latency ที่ 48 ไซเคิล ของหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 ใน Core i7-980X ได้ส่งผลโดยตรงกับผลการทดสอบจากโปรแกรม Everest Ultimate ในหัวข้อ Mem Copyและ Mem Latency อย่างชัดเจน ส่วนการทดสอบด้วย SiSoft Sandra หัวข้อ RAM Bandwidth แม้ว่าการทำงานของหน่วยความจำแบบ Triple Channel จะทำให้ผลออกมาดีกว่า Core i7-870 ที่หน่วยความจำทำงานแบบ Dual Channel แต่ก็ยังได้ผลทดสอบน้อยกว่า Core i7-975 อยู่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่า Latency ที่เพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ ได้ส่งผลโดยตรงต่อการดึงข้อมูลจากหน่วยความจำหลักมาเก็บไว้ในหน่วยความจำแคชระดับที่ 3 อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงกระนั้นการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark Vantege ก็สามารถทำผลการทดสอบโดยรวมออกมาได้ดีที่สุด

    สำหรับประสิทธิภาพในการเล่นเกม 3 มิติ ก็ให้ผลออกมาน่าพอใจเล็กๆ สำหรับ Core i7-980X เมื่อทำผลการทดสอบออกมาได้เหนือคู่แข่งแบบไม่ขาดลอยเกือบทุกเกมทดสอบ จะมีก็แค่การทดสอบจากเกม World in Conflict กับ 3DMark Vantage ในหัวข้อ CPU เท่านั้นที่สามารถทำผลการทดสอบได้เหนือกว่า Core i7-975 ที่ 12 และ 22 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งนั่นหมายความว่า หน่วยความจำแคชระดับที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 50 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนคอร์ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 คอร์ ไม่ได้ส่งผลต่อการเล่นเกมสามมิติโดยตรงมากนัก


Core i7 980X ยังแรงได้อีก

    ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าปลาบปลื้มใจจากอินเทลกับการเปิดตัวซีพียู 6 คอร์ 12 เธรด สำหรับเครื่องพีซีแบบเดสก์ทอปตัวแรกของโลก และผลการทดสอบของทีมงานก็ต้องบอกว่าแอพพลิเคชันที่มีอยู่ตอนนี้สามารถเกื้อหนุนคอร์ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 คอร์ ของ Core i7-980X สามารถทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นในอนาคตอันไม่ไกลนักนับจากนี้ บรรดาผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชันต่างๆ จะมีการออกแบบและปรับปรุงโค้ดในตัวโปรแกรมของตน (อาจจะมาในรูปของแพตช์เวอร์ชันใหม่ๆ ได้เช่นกัน) ให้สามารถใช้ประโยชน์จากซีพียู 6 คอร์ 12 เธรด นี้ได้ดีมากขึ้น และนั่นเท่ากับว่าในอนาคตเรายังได้เห็นศักยภาพที่แอบซ่อนอยู่ในซีพียูรุ่นนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย

    เราต้องยอมรับความจริงกันแบบตรงไปตรงมาว่า ณ เวลานี้ Core i7-980X คือ ซีพียูสำหรับเครื่องพีซีแบบเดสก์ทอปที่แรงที่สุดบนปฐพีอันแสนร้อนระอุจากภาวะโลกร้อนแห่งนี้ แต่ด้วยราคาขายประมาณ 33,000 บาท ก็ทำให้มันเป็นซีพียูที่เหมาะสำหรับผู้ใช้ระดับสูงที่พร้อมจะจ่ายเงินระดับดังกล่าวได้อย่างไม่สะทกสะท้าน และมันจะยังไม่ใช่ซีพียูสำหรับมวลมหาชนคนทั่วไปในเร็ววันและเร็วปีนี้อย่างแน่นอน และน่าจะนานเนิ่นนานออกไปเรื่อยๆ หากว่าคู่แข่งที่เคยสำคัญของอินเทลยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนเฉกเช่นเดิมมาหลายเพลาแล้ว

    ในส่วนการติดตั้งฮีตซิงก์รูปแบบใหม่อาจจะมีความยุ่งยากมากกว่าฮีตซิงก์แบบเดิมๆ เล็กน้อย แม้ว่าจะดูสวยงามกว่า แต่เวลาติดตั้งคุณจะต้องยึดตัวฮีตซิงก์เข้ากับแผ่นเพลตแบบพลาสติกที่จะต้องซ้อนอยู่ใต้ตัวเมนบอร์ด โดยเริ่มต้นให้คุณนำแผ่นเพลตไปวางใต้ตัวเมนบอร์ดในบริเวณซ็อกเก็ตของซีพียูในตำแหน่งที่ถูกต้อง หลังจากนั้นจึงหมุนสกรูที่อยู่ตรงขายึดบริเวณฐานของซีพียู เพื่อยึดแผ่นเพลตและตัวฮีตซิงก์เข้าด้วยกันให้แน่นหนา ทุกอย่างก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่ถึงกระนั้นตัวสกรูที่ทำหน้าที่ยึดกับตัวเพลต ก็มีตำแหน่งที่ทำให้ใช้ไขควงหมุนได้ยากพอสมควร แม้ว่าตัวครีบของฮีตซิงก์จะสูงขึ้นมาจากระดับพื้นของตัวเมนบอร์ดมากพอสมควรก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น